6 วิธีพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพ

mbhg97hh-1397612399

วิธีที่ 1 ฝึกอ่านอย่างละเอียดพร้อมกับจดโน้ตไปด้วย

อ่านอย่างละเอียดยังไง? อาจเริ่มจากการขีดเส้นใต้ หรือทำไฮไลท์คำต่างๆ เพื่อหาคำที่ไม่เข้าใจ หรือคำที่เป็นใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน หาคีย์เวิร์ด (Keyword) คำสำคัญในเรื่อง หรือแม้แต่การตั้งคำถามเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ตัวเองพยายามทำความเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น จะได้มีแรงผลักดัน สุดท้ายหลังจากอ่านจบลองเขียนสรุปเรื่องทั้งหมดดูซิ ว่าคนเขียนพูดถึงเรื่องอะไร การเขียนสรุปเป็นวิธีการตรวจสอบที่ดีวิธีหนึ่งว่าเราเข้าใจเรื่องที่อ่านจริงๆหรือไม่

วิธีที่ 2 เพิ่มระดับความเร็วในการอ่าน

โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะใช้เวลาอ่าน 240 – 300 คำในหนึ่งนาที โดยคนส่วนใหญ่จะอ่านโดยมองเป็นคำๆไป ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่าน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเพิ่มความเร็วในการอ่านแบบในหนึ่งนาทีต้องอ่านจบสองหน้านะคะ เพราะนั่นก็จะทำให้แค่อ่านเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ แต่ให้เปลี่ยนเป็นในการจ้องมองแต่ละครั้งพยายามมองให้ได้หลายๆคำๆ เก็บข้อมูลหลายๆคำไว้ อย่างเช่น คนส่วนใหญ่จะอ่านโดยสายตาของพวกเขาจะมองแค่คำๆเดียว เราก็แค่เปลี่ยนจากการมองแค่คำเดียวเป็นมองเป็นเซต เซตหนึ่งอาจมีซักสามสี่คำว่าไป ทีนี้การอ่านของเราก็จะเร็วขึ้น และยังคงความเข้าใจในเนื้อหาได้ดีอีกด้วย

วิธีที่ 3  อ่านมากกว่าหนึ่งครั้ง

ทักษะการอ่านเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมค่ะ ถ้าเราเป็นเพียงคนเริ่มต้นในการอ่านภาษาอังกฤษ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถเข้าใจได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือทิ้งไว้หลายๆวัน หรืออาจจะเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน แล้วจึงกลับมาอ่านใหม่ จะสังเกตอย่างเห็นได้ชัดเลยว่าเราเข้าใจเรื่องที่อ่านไปมากขึ้น อาจเพราะการสั่งสมทางภาษาอังกฤษในด้านต่างๆที่มากขึ้นในช่วงเวลาที่ทิ้งไว้ บวกกับสมองก็ได้พยายามประมวลเรื่องราวทั้งหมดที่เคยเห็นไปแล้ว ทำให้หลังจากทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เราจะรู้สึกเข้าใจเรื่องที่เคยอ่านไปแล้วนั้นได้มากยิ่งขึ้น

วิธีที่ 4 ลองอภิปรายสิ่งที่อ่านกับคนอื่นๆ

เวลาเราอ่านเรื่องอะไรการได้คุยกับคนอื่นๆที่อ่านเรื่องเดียวกันถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความเพลิดเพลินนะคะ ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยเสริมสร้างทักษะการอ่านของเราโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องพยายามทำความเข้าใจในรายละเอียดเรื่องราวต่างๆของสิ่งที่อ่านเพื่อนำไปพูดคุยกับคนอื่นๆได้ เราเลยจำเป็นต้องพยายามอ่านให้เข้าใจ หรือต่อให้อ่านไม่เข้าใจเราก็สามารถไปถามคนที่อ่านเรื่องเดียวกัน แม้ว่าจะอ่านเรื่องๆเดียวกันสิบคนแต่ไม่มีวันที่ทุกคนจะมีความคิดเห็นเหมือนกันหรอกค่ะ เราจะได้แนวคิดและเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้นผ่านหลายๆมุมมอง

วิธีที่ 5 ใช้การจดบันทึกเพื่อช่วย

ยิ่งไม่รู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องจดมากเท่านั้น เพื่อเตือนความจำทั้งศัพท์ที่ไม่รู้ เนื้อเรื่องโดยรวม ทำให้เราจดจ่อกับเรื่องที่อ่าน การจดช่วยให้เรามีความเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น และยังเป็นการช่วยจดบันทึกด้วยว่าได้อ่านเรื่องอะไรไปแล้ว เรื่องราวเป็นอย่างไร มีศัพท์อะไรที่เกี่ยวข้องปรากฏในเรื่องบ้าง ทั้งศัพท์ที่ไม่เคยเห็น และคำไหนเป็น Keyword ของเรื่อง การจดบันทึกจะเป็นการช่วยย้ำเรื่องที่เราอ่านอีกครั้งให้ไม่ได้อ่านแค่ผ่านตา แต่อ่านแล้วสามารถจดจำได้ด้วย ทีนี้พอกลับมาอ่านบันทึกใหม่เราก็จะนึกภาพเรื่องที่อ่านออกเป็นฉากๆ ทั้งเรื่อง ศัพท์ ที่อาจสามารถนำเอาไปใช้ได้ในการเขียนอีกด้วยนะคะ

วิธีที่ 6 มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน

การอ่านไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดมุ่งหมาย เราก็จะอ่านไปงั้นๆ ไม่มีการพัฒนาอะไร แต่ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากพัฒนาการอ่านถึงระดับไหน ในกี่เดือน มันก็จะเป็นกรอบให้เราได้เดินตาม ช่วยให้มีวินัยในการฝึกอ่านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มความเร็วในการอ่านขึ้นในสามเดือน หรือ ทุกครั้งที่อ่านต้องมีการจดบันทึกเรื่องย่อ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การพัฒนาทักษะการอ่านของเราเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้ามีเป้าหมายแล้วเราทำได้ดังเป้าที่วางไว้มันก็เป็นเหมือนกำลังใจว่าในที่สุดเราก็ทำได้สำเร็จแล้วอย่างที่วางไว้นะคะ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการง่ายๆที่อยากให้ทุกคนได้ลองไปฝึกกัน บางคนอาจจะมีหลากหลายวิธีที่ช่วยเพิ่มทักษะการอ่านให้ดียิ่งขึ้น ก็ลองเอามาแชร์ให้พวกเราและคนอื่นๆดูบ้างนะคะ